
- เมื่อปี พ.ศ. 2515 มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนในหมวดวิชาศิลปะและหัตถศึกษา กลุ่มวิชาพื้นฐานต่อมาปี พ.ศ. 2520 ได้พัฒนาเป็นภาควิชาหัตถศึกษาและอุตสาหกรรมศิลป์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอน ปกศ.สูง (อนุปริญญา) สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 เปิดหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์
- ปี พ.ศ. 2525 เปิดหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปีหลัง (ค.บ.) สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ และสาขาวิชาไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นได้พัฒนาหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขึ้นเมื่อ
- ปี พ.ศ. 2530 และพัฒนาต่อเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ปริญญาตรี 4 ปี สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดสอนในปี พ.ศ. 2532 (เป็นหลักสูตรที่เปิดแห่งแรกในประเทศไทย) จากนั้นในปี พ.ศ.2539 ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงเทคโนโลยีก่อสร้างและสถาปัตยกรรม
- ปี พ.ศ.2543 ได้เปิดสอนเพิ่มอีกหนึ่งสาขาวิชา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิกส์ ปริญญาตรี 4 ปี และต่อมาได้เปิดเพิ่มอีกสาขาหนึ่ง คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม(ปริญญา 2 ปี) เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และสนองต่อนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ ได้มีการพัฒนาบุคลากรโดยการเปิดสอบบรรจุบุคลากรเพิ่มและจัดส่งบุคลากรไปศึกษาเพิ่มเติมในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีการจัดการเครื่องมืออุปกรณ์ตลอดจนปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนในสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มาโดยตลอด
- จากพัฒนาการดังกล่าวจะเห็นถึงการขยายตัวของสาขาวิชาต่างๆ ในภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ จนมาเป็นกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านกำลังคน ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ และตอบสนองต่อความต้องการการศึกษาของชุมชนในท้องถิ่นด้วย และจากการส่งเสริมของภาครัฐที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจากระดับชุมชนไปสู่ระดับประเทศ และนานาชาติ โดยเน้นที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยจึงมีความจำเป็นที่จะเปิดทำการเรียนการสอน ในสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงต่างๆ เพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับนโยบายและความต้องการด้านกำลังคน จึงเห็นควรปรับฐานะจากกลุ่มโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป็นโครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 เพื่อที่จะได้เปิดทำการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้หลากหลายยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศดังกล่าว
- ในปี พ.ศ.2548 สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจึงได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารภายในคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยประกอบไปด้วย 6 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมก่อสร้าง (ปริญญาตรี 2 ปีหลัง) สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า – อิเล็กทรอนิกส์ (ปริญญาตรี 2 ปีหลัง) สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม (ปริญญาตรี 2 ปีหลัง) สาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิกส์ (ปริญญาตรี 4 ปี) สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม (ปริญญาตรี 4 ปี) และ สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ปริญญาตรี 4 ปี)
- ในปี พ.ศ.2549 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้เปิดสาขาวิชาเพิ่มขึ้นอีก 2 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม (ปริญญาตรี 2 ปีหลัง) และสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม (ปริญญาตรี 2 ปีหลัง) เพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียนด้านเทคโนโลยีให้เพิ่มมากขึ้น
- ในปี พ.ศ. 2552 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้พัฒนาหลักสูตรตามระเบียบของ สกอ. ให้เป็นหลักสูตร 4 ปีตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร จึงได้พัฒนาหลักสูตรใหม่จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้ามาเรียนในปีการศึกษา 2553 และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า เปิดสอนในปี พ.ศ. 2554
- ปี พ.ศ.2556 มีการพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐาน สกอ. เพิ่มอีก 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม เทคโนโลยีก่อสร้าง เทคโนโลยีเซรามิกส์ ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหลักสูตรเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็น อิเล็กทรอนิกส์สื่อสาร